IPO หลบไป ยุคแห่งบล็อคเชนเขาระดมทุนกันด้วย ICO

คุณผู้อ่าน Brand Inside คงคุ้นเคยกับคำว่า IPO (Initial Public Offering) หรือการนำเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนมาตรฐานของบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก
แต่ในโลกแห่งบิทคอยน์ บล็อคเชน และเงินตราดิจิทัล กำลังเกิดกระแสใหม่ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ขึ้นมาแทน เป็นวิธีการระดมทุนแบบใหม่ที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก

ภาพประกอบจาก Pixabay

เงินตราดิจิทัลมีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย

ก่อนจะเข้าใจแนวคิด ICO เราจำเป็นต้องเข้าใจคุณสมบัติบางอย่างของเงินตราดิจิทัล (cryptocurrency) อย่างบิทคอยน์กันก่อน
เงินตราในโลกจริงสามารถมีเพิ่มได้เรื่อยๆ ตามที่ธนาคารแห่งชาติของแต่ละประเทศจะตัดสินใจพิมพ์ออกมา (ส่วนจะค้ำประกันด้วยทองคำหรือวิธีการอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่สกุลเงินอย่างบิทคอยน์ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้มีจำนวนจำกัด (Controlled Supply) ที่จำนวน 21 ล้านคอยน์ (ใช้หน่วย BTC) โดยมอบให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยประมวลผลข้อมูลในเครือข่ายบิทคอยน์ (หรือที่เราเรียกกันเล่นๆ ว่า “การทำเหมือง” หรือ mining) ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป
ไอเดียของบิทคอยน์คือ ในช่วงแรกที่บิทคอยน์ยังไม่ค่อยดัง (ราวปี 2009-2011) ผู้ที่ช่วยประมวลผลธุรกรรมบิทคอยน์จะได้รับเหรียญตอบแทนในอัตราสูง และเมื่อเครือข่ายมีคนเข้าร่วมแล้ว อัตราผลตอบแทนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ และเมื่อเงินถูกแจกจ่ายจนครบโควต้า 21 ล้านคอยน์แล้วก็จะไม่มีเงินก้อนใหม่เกิดขึ้นอีก การได้มาซึ่งบิทคอยน์จะต้องมาจากการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเท่านั้น
นั่นแปลว่าในระยะยาวแล้ว มูลค่าของบิทคอยน์จะสูงขึ้นเพราะมันถูกจำกัดจำนวนมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง
มีการคำนวณกันว่าบิทคอยน์น่าจะหมดโลกในปี ค.ศ. 2140 โดยอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์จะคงที่เท่ากับยุคปัจจุบัน (แปลว่ามันควรจะหมดเร็วกว่านั้นมาก เพราะพลังประมวลผลเพิ่มขึ้นตลอดเวลา) อย่างไรก็ตาม เงินคอยน์ก้อนท้ายๆ ที่ถูกจัดสรรจะมีปริมาณลดน้อยลงกว่าในปัจจุบันมาก
กราฟแสดงปริมาณ Bitcoin ที่ถูกจัดสรร (เส้นสีฟ้า) และอัตราผลตอบแทนที่ลดลงเรื่อยๆ (สีส้ม) – BashCo

โมเดล ICO ขายคอยน์เพื่อระดมทุนก้อนแรก

ด้วยแนวคิดเรื่องเงินตราดิจิทัลมีจำนวนจำกัด บวกกับความนิยมในบิทคอยน์ ส่งผลให้โครงการเงินตราดิจิทัลรายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภายหลัง หันมาใช้วิธีขายเงินของตัวเองบางส่วนออกมาเป็นเงินจริงก่อน เพื่อนำเงินจริงไปจ้างบุคคลากรและไปลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้ได้ตามเป้า
โครงการที่ประสบความสำเร็จในการขายเงินต่อสาธารณะ (บ้างใช้คำว่า crowdsale หรือ crowdfunding) คือ Ethereum (ที่ปัจจุบันดังเป็นอันดับสองรองจากบิทคอยน์ไปแล้ว) โดยเริ่มขายเงินครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2014 ด้วยจำนวนเงิน 60 ล้านเหรียญ ETC และขายออกไปได้เป็นเงินจริงมูลค่า 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [อ้างอิง]
ด้วยโมเดลการระดมทุนลักษณะนี้ ส่งผลให้โครงการเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ หันมาทำ ICO ตามกัน ส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดที่ว่าถ้าเป็นเจ้าของสกุลเงินดิจิทัลเอง ก็เหมือนจับเสือมือเปล่า สามารถขายเงินดิจิทัลเป็นเงินจริงมาใช้ได้ก่อนใคร (Ethereum สร้างความน่าเชื่อถือให้สกุลเงินของตน ด้วยการตั้งมูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไรมาเป็นองค์กรกลางคอยดูแล)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเงินดิจิทัลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากๆ ส่งผลให้เงินสกุลย่อยๆ ที่เกิดในภายหลังเริ่มไม่น่าสนใจและไม่มีมูลค่ามากนัก
ในปัจจุบันเราอาจพอสรุปได้ว่า มีเพียง Bitcoin ต้นฉบับ และ Ethereum เท่านั้นที่ถูกยอมรับในวงกว้างพอ ข้อมูลมูลค่าตลาด (market cap) ในขณะที่เขียนบทความนี้ (29 พ.ค. 2560) มูลค่าทั้งหมดของ Bitcoin อยู่ที่ 36.6 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วย Ethereum ที่ 17 พันล้านดอลลาร์ และอันดับสาม Ripple ที่ 9 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูลจาก Coinmarketcap)

ยุคที่สองของ ICO – ขาย Token เสมือน

กระแสใหม่ของ ICO ที่เริ่มเห็นได้ชัดในปี 2017 คือแนวทางการสร้างสกุลเงินดิจิทัลแบบใหม่เริ่มหมดความนิยมลงไป และตลาดหันมาโฟกัสที่ Bitcoin และ Ethereum แทน
สิ่งที่เกิดขึ้นคือโครงการ cryptocurrency แบบใหม่ๆ เลือกใช้วิธี “ขี่” อยู่บน Bitcoin หรือ Ethereum อีกทีหนึ่ง เพราะเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างอยู่แล้ว ทุกคนในวงการเชื่อมั่นในเงิน Bitcoin และ Ethereum ที่ถือครองอยู่ว่าจะมีมูลค่าต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ Kik Messenger แอพแชทยอดนิยมอีกตัวหนึ่งจากแคนาดา ประกาศทำสกุลเงินของตัวเองชื่อว่า Kin โดยมันจะเป็นสกุลเงิน “เสมือน” ที่อยู่บนเครือข่าย Ethereum อีกทีหนึ่ง โดยสกุลเงิน Kin จะถูกนำไปใช้ในระบบของ Kik Messenger ที่มีผู้ใช้อยู่ 300 ล้านคน
เพื่อไม่ให้สับสน ในวงการเงินดิจิทัลจึงเรียกสกุลเงินแบบ Kin ว่าเป็น “Token” และมองว่าการขาย ICO คือการนำเสนอขาย Token เหล่านี้ต่อสาธารณะ ส่วนตัว Token จะพัฒนาด้วยเทคโนโลยี Bitcoin/Ethereum ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในสัปดาห์เดียวกัน ยังมีสกุลเงินดิจิทัลชื่อ Civic ประกาศขาย Token Sales ด้วยเช่นกัน โดยพัฒนาขึ้นบน Ethereum [รายละเอียด] แสดงให้เห็นการบูมอย่างมากของการขาย ICO ในปีนี้

ICO vs IPO ต่างกันอย่างไร

แนวคิดการขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อระดมเงินทุนมาใช้งาน เป็นจุดร่วมของทั้ง IPO และ ICO อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญของ ICO คือไม่ได้เป็นการซื้อหุ้น (equity) เหมือนกับการขายหุ้น IPO
Balaji S. Srinivasan พาร์ทเนอร์ของบริษัทลงทุนชื่อดัง Andressen Horowitz เขียนอธิบายเรื่องนี้ในบล็อกเขาเปรียบเทียบการขายเหรียญ ICO ว่าเหมือนกับการซื้อสิทธิการใช้งาน API ของแอพทั่วไป หรือจะมองว่ามันเหมือนกับการระดมทุนเพื่อทำโครงการบน Kickstarter ก็ได้ (เพียงแต่ผู้ลงเงินไม่ได้ของกลับมาเหมือน Kickstarter แต่ได้เหรียญกลับมาแทน)
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การระดมทุนซื้อ Token ต่างไปจากการซื้อหุ้นตรงที่ไม่สามารถลดสัดส่วนหุ้น (dilute) ลงได้ เพราะผู้ซื้อทราบเงื่อนไขการออก Token มาตั้งแต่แรกว่าจะมีจำนวนเท่าไร เปรียบได้กับการซื้อของไปล่วงหน้ามากกว่า
Balaji มองว่าวิธีการขาย Token แบบ ICO จะกลายเป็นวิธีการระดมทุนแบบใหม่ที่ได้รับความนิยม และช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ของการระดมทุนที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือในปัจจุบัน

การลงทุนมีความเสี่ยง ICO ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ICO ยังเป็นวิธีการระดมทุนที่ใหม่มาก มันย่อมไม่มีกฎหมายรองรับ และสถานภาพทางกฎหมายก็ยังคลุมเครือ (ทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ) ดังนั้นผู้ที่จะลงทุนใน ICO ก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงของตัวเอง ว่าโครงการ ICO แต่ละโครงการมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
ปัจจุบัน ตลาดเงินดิจิทัลแบบ cryptocurrency กำลังบูม เนื่องจากราคาบิทคอยน์ที่แลกเป็นเงินจริงได้ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาก นักลงทุนและนักเก็งกำไรจึงเริ่มแห่กันมาสู่ตลาดนี้ แน่นอนว่าย่อมมีผู้ไม่ประสงค์ดี หวังจะหลอกลวงฟันเงินจากการขาย ICO ด้วยเช่นกัน เราย่อมจะได้เห็นการโกงเงินจาก ICO ในอนาคตอีกไม่ไกลนัก และหวังว่าทุกท่านจะแคล้วคลาดปลอดภัย
ที่มา : https://brandinside.asia/ico-initial-coin-offering/

ไม่มีความคิดเห็น